ในที่สุด ฝนเย็นๆชื่นฉ่ำมาแล้วจ้า! ฝนมาช่วยดับความร้อนระอุจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาทำให้บ้านเราเย็นลง บรรยากาศน่านอนสุดๆไปเลยค่ะแต่เดี๋ยก่อน! เจ้าของบ้านอย่าเพิ่งนอนเพลิน…ในปีที่ผ่านมาบ้านของเราอาจเกิดความเสียหาย หรือการสึกหรอตามจุดต่างๆที่เราอาจนึกไม่ถึงได้เพื่อเตรียมตัวรับหน้าฝน เราควรตรวจเช็ครอบๆตัวบ้านอย่างละเอียด หากพบจุดชำรุด ควรเร่งซ่อมแซมให้เรียบร้อยเพื่อเป็นการป้องกันบ้านจากความเสียหายที่จะตามมาในอนาคต ว่าแต่ เราควรเริ่ม ตรงไหนดี? ไม่ต้องห่วงค่ะ วันนี้กิตติคุณ มีคำตอบให้
พบกับ "6 จุด เช็คบ้าน เตรียมรับหน้าฝน" กันได้เลยค่ะ
1. เช็ครอยรั่วรางระบายน้ำฝนบนหลังคา
บ้านส่วนใหญ่ในไทยมักจะมีรางระบายน้ำฝนเพื่อลดการกระแทกลงสู่พื้นโดยตรง โดยเฉพาะช่วงฝนตกหนักๆน้ำฝนจะไหลตามความลาดเอียงของหลังคาลงมากระแทกกับพื้นด้านล่าง ยิ่งตัวบ้านสูงเท่าไหร่ แรงกระแทกของน้ำฝนยิ่งแรงตามไปด้วย จนอาจสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่รอบบ้านได้ เมื่อรางน้ำฝนมีรูรั่วก็จะยิ่งเพิ่มจุดการตกกระแทกพื้นของน้ำ
วิธีแก้
ซ่อมแซมรางระบายน้ำให้เรียบร้อย จะช่วยลดแรงกระแทกของน้ำฝนได้ และยังช่วยชะลอการชะล้างบริเวณพื้นที่หน้าดิน
2. กำจัดเศษใบไม้ที่อาจอุดตันแนวรางระบายน้ำ
นอกจากตรวจสอบรูรั่วบริเวณรางหลังคา หลายครั้งที่เรามักจะพบน้ำขัง น้ำระบายไม่ทันจากแนวรางระบายน้ำบนหลังคา สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเศษใบไม้ที่ร่วงลงไปขัง เมื่อสะสมนานวันเข้าก็อุดตันรู ทำให้ระบายน้ำได้ยาก
วิธีแก้
ทำตะแกรงครอบตลอดแนวรางระบายน้ำฝนบนหลังคาเพื่อป้องกันไม่ให้เศษใบไม้ตกลงไปอุดตัน
3. เช็ครอยต่อระหว่างผนังวงกบและบานประตู
ทุกครั้งที่ฝนเริ่มตก สิ่งแรกที่ทุกคนทำคือปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด เพื่อกันฝนสาด แต่บางครั้งทำไมยังมีน้ำซึมเข้ามาตามขอบประตูหรือหน้าต่างอยู่บ้าง นั่นเป็นเพราะตรงรอยต่อระหว่างผนังกับวงกบอาจจะมีช่องห่าง ให้ยาแนวด้วยซิลิโคน แต่หากวงกบยังติดแน่นดี น้ำฝนอาจซึมเข้ามาทางรอยต่อระหว่างบานประตูกับวงกบ
วิธีแก้
หากมีช่องห่างระหว่างรอยต่อให้ยาแนวด้วยซิลิโคน หรือ เซาะร่องเล็กๆขนาด 1 x 1 เซนติเมตร บริเวณใต้วงกบด้านบนร่นเข้ามาจากขอบนอก 3 เซนติเมตร สำหรับเป็นบัวหยดน้ำเพื่อหยุดทางน้ำที่กำลังจะไหลซึมเข้าขอบด้านใน
4. เช็คกิ่งไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวบ้าน
ต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกในบริเวณบ้านหรือใกล้ตัวบ้าน เมื่อเจอสภาพฝนฟ้าคะนอง อาจจะหักโค่นลงมาแบบไม่ทันตั้งตัว ฉะนั้นก่อนจะเข้าฤดูฝน หมั่นตัดแต่งกิ่งให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยจากตัวบ้านไว้ก่อน เพราะเมื่อหมดหน้าฝน กิ่งก้านก็จะแตกออกใหม่อีกครั้ง ไม่ต้องกังวล
วิธีแก้
ตัดกิ่งไม้ใหญ่ออกให้พ้นจากสายไฟหรือตัดกิ่งที่มีแนวโน้มจะหักโค่นง่าย
5. ย้ายเฟอร์นิเจอร์สนามหลบฝน
แม้เฟอร์นิเจอร์สนามจะถูกออกแบบมาให้ทนต่อสภาพฟ้าฝน แต่ในบางประเภท อาจมีวัสดุที่เปราะบางง่าย เช่นวัสดุไม้เทียมที่คนขายอาจจะไม่ได้แจ้งใว้ผสมอยู่ในเฟอร์นิเจอร์ ฉะนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ควรย้ายมันไปอยู่บริเวณที่ไม่ถูกฝนชะล้างก่อน ถ้าเป็นชิ้นใหญ่ที่เคลื่อนย้ายลำบากควรแก้ไขด้วยการนำผ้าใบมาคลุมป้องกัน
วิธีแก้
นำผ้าใบมาคลุมช่วงหน้าฝน ป้องกันการเสื่อมสภาพอายุการใช้งานสั้น
6. ตรวจสอบภาชนะขังน้ำฝน
บางบ้านที่มีโอ่งหรือภาชนะที่กักเก็บน้ำได้ภายในบริเวณนอกบ้าน อย่าลืมปิดฝาให้มิดชิด เพราะเมื่อน้ำฝนขังอาจจะเกิดแหล่งเพาะยุงลายตามมาได้ หรือบางบ้านที่รองน้ำไว้ใช้ ก็อย่าลืมปิดฝาให้มิดิดหลังจากที่น้ำเต็มภาชนะ เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีน้ำขัง จะเกิดเป็นจุดแหล่งเพาะยุงลายได้ทันที
วิธีแก้
คว่ำภาชนะต่างๆ ที่จะขังน้ำฝนซึ่งเป็นแหล่งเพาะยุงลายได้
Add comment